Saturday, December 14, 2013

พระแม่มหากาลี

 Mahākālī ( महाकाली )

พระแม่มหากาลี เทวีแห่งสันติสุข ทำลายความชั่วร้ายทั้งปวงและคุณไสยทั้งหลาย
พระแม่กาลี หรือ กากิลา (काली, Kālī, แปลว่า หญิงดำ) เป็นปางหนึ่งของพระอุมาเทวี ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีกายสีดำสนิท มีลักษณะดุร้าย มี ๑๐ พระกร ถืออาวุธร้ายอยู่ในพระกรทั้งสิบนั้น แลบลิ้นยาวถึงทรวงอก ที่ริมฝีปากมีเลือดไหลหยดเป็นทางยาว เครื่องประดับเป็นหัวกะโหลก มีงูใหญ่ร้อยคาดองค์ดั่งสังวาลย์
พระแม่กาลี หรือ เจ้าแม่กาลี มีอำนาจฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีเทวานุภาพอันแรงกล้า สร้างความวิบัติแก่เหล่าอสูรอย่างรุนแรง เด็ดขาด แฝงเร้นไว้ซึ่งความน่ากลัว ผู้บูชาพระแม่กาลีอย่างถูกต้องและเคร่งครัด พระแม่จะประทานความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ และอำนาจเหนือผู้อื่น
พระแม่กาลี ยังมีพลังอำนาจในการขจัดคุณไสย ลบล้างไสยเวทย์ด้านมืด หากบุคคลใดถูกกระทำทางไสยศาสตร์ เมื่อผู้นั้นได้สวดบูชาอ้อนวอนต่อพระองค์ท่านแล้ว พระองค์ท่านก็มักให้พร ขจัดสิ่งอาถรรพ์ชั่วร้ายให้มลายหายไป
ผู้ใดกระทำการสวดบูชา สรรเสริญ และถวายเครื่องสังเวยแด่พระแม่กาลีเป็นประจำ พระองค์ท่านจะประทานความปลอดภัยมาสู่ผู้นั้น ทรงดลบันดาลให้เกิดความสันติผาสุกแก่ผู้ครองเรือนทั่วไป คุ้มครองผู้บูชาจากภยันตรายและอุบัติเหตุร้ายแรง
พระแม่กาลีทรงมีบุคลิกภาพที่ยากแก่การเข้าใจ มีความลึกลับที่สุดในบรรดาเทพเทวาทั้งปวง พระนางมีความดุดัน เกรี้ยวกราด รูปลักษณ์และอุปนิสัยล้วนเต็มไปด้วยความน่าสะพรึงกลัว แต่พระนางก็จะทำลายเฉพาะอสูร ปีศาจ และมนุษย์ที่กระทำการชั่วร้ายเท่านั้น เนื่องจากพระแม่กาลีก็คือเทพ และเทพก็มักปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความดีเช่นเดียวกันทุกพระองค์ ฉะนั้น แม้ผู้ที่บูชาพระแม่อย่างเคร่งครัด แต่เป็นคนที่ไม่ดี มีความคิดที่ชั่วร้าย เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น พระแม่ท่านก็จะทำลายบุคคลผู้นั้นเสียโดยไม่ละเว้น
ตำนานกล่าวว่า พระอุมาซึ่งอยู่ในปางอัมพิกา พระสิริโฉมงดงามเสด็จสู่สนามรบ เมื่อเหล่าอสูรได้เห็นก็พยายามจะได้นางเป็นชายา แต่นางได้ต่อสู้กับเหล่าอสูรด้วยความพิโรธ ในปางพระแม่กาลี จนอสูรทั้งหลายตายจนเกือบหมด เหลือเพียงมหิงษาอสูร ที่ทรงสังหารอย่างไรก็ไม่ตาย เพราะเคยได้รับพรจากพระศิวะให้มีชีวิตเป็นอมตะ หากเลือดหยดถึงพื้นดินก็จะเกิดเป็นอสูรอีกมากมายไม่สิ้นสุด ร้อนถึงพระศิวะ ทรงประทานวิธีให้พระแม่กาลีดื่มเลือดอสูรทุกครั้งอย่าให้ตกถึงดิน มาธูอสูรจึงถึงแก่ความตาย
หลังจากชนะอสูรมาธู พระนางทรงดีพระทัย กระโดดเต้นเพื่อฉลองชัยชนะ แต่ด้วยตบะอันแรงกล้าทำให้เกิดความเดือดร้อน ต่อด้วยโลกธาตุทั้งปวงเมื่อพระนางกระทืบพระบาท พระศิวะจะเข้าห้ามปรามก็เกรงความดุร้ายของพระนาง จึงใช้อุบายทรงทอดพระกายลงบนพื้นที่พระนางจะกระทืบพระบาท เมื่อพระกาลีเห็นพระศิวะที่พื้น ด้วยปางหนึ่งที่เป็นพระปารวตี ซึ่งรักและภักดีในพระศิวะยิ่ง ก็ทรงชะงัก และแลบลิ้นด้วยความขวยเขิน.


Kali Yantra
การจัดโต๊ะ แท่น หรือหิ้งบูชาพระแม่ เน้นสีแดง ควรทาสีแดงหรือใช้ผ้าสีแดง ส่วนการประดับ หรือใช้เครื่องบูชาอย่างอื่นให้ใช้สีดำ เช่น กระถางธูป ถ้วยใส่กำยาน กระถางใส่ของต่างๆ (เน้นสีดำและแดง)  
เครื่องจุดบูชา ใช้ธูปหอม กำยานหอม น้ำมันหอมระเหยกลิ่นต่างๆ และการบูร (ถ้าไม่มีธูปหอม สามารถจุดกำยานเพื่อบูชาพระแม่อย่างเดียวก็ได้ค่ะ
เครื่องประดับที่พระแม่ทรงโปรด สร้อยข้อเท้าที่มีกระดิ่ง (กระดิ่งยิ่งเยอะรอบสร้อยข้อเท้ายิ่งดีค่ะ เพราะเวลาเคลื่อนไหวเสียงกระดิ่งจะดังเพราะมาก องค์แม่ท่านชอบ)
พิธีบูชาไฟ (อารตีไฟ) เป็นพิธีบูชาที่เชื่อว่า พระแม่กาลีทรงโปรดปรานมาก เริ่มแรก ให้นำมะพร้าวห้าวผ่าครึ่งซีก ใส่ใบพลูเขียว ๓ ใบ เด็ดก้านออกด้วย (อย่าใช้ใบเหลือง) แล้วใส่การบูรลงไป แล้วจุดไฟที่การบูร เวลาบูชา ให้นำมะพร้าวซีกที่ติดไฟแล้ว วนสามรอบตรงหน้ารูปเคารพของพระองค์  เป็นการเผาสิ่งอัปมงคลให้ไหม้สิ้นไป และผู้บูชาสามารถอธิษฐานจิตขอพรจากพระองค์ได้ โดยระหว่างทำการอารตีสวดบทบูชาพระแม่ตามไปด้วยค่ะ
เครื่องถวายบูชาพระแม่กาลี ให้ใช้นมสดหรือนมกล่องรสจืด (องค์แม่ทรงโปรด) น้ำหวานสีแดง หรือน้ำที่คั้นจากพืชหรือธัญพืชที่มีสีแดง ห้ามใช้เลือดสดเด็ดขาด (การใช้เลือดสดเป็นพิธีกรรมโบราณ ที่ดูแล้วน่าสังเวชมากกว่าจะได้พรศักดิ์สิทธิ์อันใดจากเทพเจ้า อีกทั้งการฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เป็นการทำบาป ชีวิตของใคร ใครก็รัก หากมีคนมาฆ่าท่านเพื่อบูชายัญ ครอบครัวท่านจะรู้สึกเช่นไร) ส่วนเนื้อสัตว์ ไม่สมควรนำถวายองค์พระแม่และมหาเทพมหาเทวีทุกพระองค์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ส่วนขนมที่ใช้ถวาย ให้ใช้ขนมสีแดง หากเป็นขนมอินเดีย ก็เช่น ขนมลาดูป (ลัทดู) กุหลาบจามุน (สีน้ำตาลเข้ม บางอันก็ออกแดงนิดๆ) และขนมชนิดอื่นๆ ที่หาได้ ส่วนขนมไทย เช่น ข้าวเหนียวแดง ขนมถ้วยฟูสีแดง ขนมโก๋สีแดง ขนมเปี๊ยะสีแดง ฯลฯ
ในประเทศอินเดีย ในสมัยโบราณมีการบูชาพระแม่กาลี โดยฆ่าสัตว์บูชา เช่นแพะ แกะ แม้แต่การฆ่าคนบูชายัญ จนต้องมีการประกาศห้ามเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตั้งแต่สมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปัจจุบันนี้ เมืองกัลกัตตาเป็นเมืองที่มีประชาชนบูชาพระแม่กาลีมากที่สุดในโลก ผู้บูชาจะใช้เนื้อสัตว์และอาหารคาว บูชา แต่ก็ปรุงสุกแล้ว ไม่ได้ฆ่าต่อหน้าเทวรูปถวายแบบสมัยก่อน (ผิดกฎหมาย แต่มีบางพื้นที่แอบลักลอบทำ) ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะถวายเนื้อสัตว์ต้มสุก ไม่ถวายเนื้อวัวเนื้อควาย (เพราะถือว่า เป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะ) นิยมใช้เนื้อไก่และเนื้อแพะ 
ดอกไม้ที่พระแม่ทรงโปรด คือ ดอกไม้ที่มีสีเหลืองและสีแดง โดยเฉพาะ ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ดอกกล้วยไม้
คาถาบูชาพระแม่กาลี มีหลาบบท เลือกสวดบทใดบทหนึ่ง สามารถสวด ๓ จบ ๙ จบ หรือ ๑๐๘ จบ ก็ได้ได้ค่ะ 
แต่ก่อนการเริ่มสวดบูชามหาเทพทุกครั้งต้องสวดบทบูชาองค์พ่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ
      โอม ตัสสะ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ                                                                                                             ทุติยัมปิ ตัสสะ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ                                                                                                         ตะติยัมปิ ตัสสะ ปาระพะตี กาลีทุรคา ปิยังมะมะ                                                                                                      (คาถาบูชาทั้งพระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่ทุรคา)
      โอม เจ มาตา กีฯ (แม่อุมา)                                                                                                                                   โอม เจ มาตา กาลีฯ (แม่กาลี)                                                                                                                               โอม ศรี ทรุคา เจ นะ มะ ฮาฯ (แม่ทุรคา)                                                                                                                   โอม สตี เยมาตา กาลีฯ (แม่กาลี)                                                                                                                             โอม หรีม ครีม ทูม ทุรคา ชัยนมัสฯ                                                                                                                           โอม ชยะศรี มหากาลี มาตา                                                                                                                                   โอม มหากาลี นะมะฮา  ฯลฯ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

Post a Comment